ภัยพิบัติ ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ ภูมิอากาศ ปีนี้ 2554 ดูจะเปลี่ยนแปลงเลวร้ายเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น เป็นไปได้อย่างไร เดือนมีนาคม 2554 อากาศร้อนมาก แต่วันรุ่งขึ้นฝนตกหนัก อากาศหนาว ประมาณ 17 องศาเซลเซียส หรือน้อยกว่า หนาวมากกว่าเดือนมกราหน้าหนาวเสียอีก

วันก่อน ฝนตกหนักแต่แดดออกเปรี้ยง ไม่ใช่เจอครั้งเดียว เจอหลายครัง

ญี่ปุ่นแผ่นดินไหว เกิดซึนามิ โรงไฟฟ้านิเคลียร์ระเบิด

พม่าเกิดแผ่นดินไหว

วันนี้ 30 มีนาคม 2554 ภาคใต้หลายจังหวัด กำลังถูกน้ำท่วม นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และอีกหลายจังหวัด ธรรมดา เดือนมีนาคม เป็นเดือนแห่งการท่องเที่ยว ฟ้าใส ทะเลสวย แต่วันนี้ มีแต่คลื่นลม

คุยกับคุณยาย อายุ 70 กว่า บอกว่า เกิดมาก็ไม่เคยเห็นที่เป็นเช่นนี้ ลมฟ้าอากาศ เปลี่ยนแปลงไปมาก

ผมอายุ 59 สมัยเด็กเดินลุยโคลนปลักควายไปโรงเรียน สองข้างทางเป็นป่าไผ่ และไม้ยืนต้น ต้นจัน ต้นโพ ต้นมะเกลือ ต้นข่อย ต้นตะโก ต้นมะขามเทศ และอีกเยอะแยะ ทำนาใช้ควายไถนา เข้าเมืองนั่งเรือหางยาว ชั่วโมงกว่า จะไปพิษณุโลก ต้องออกเดินทางตั้งแต่เย็น เช้าจึงถึง ใช้เวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง

เดี๋ยวนี้ ถนนปลักควายเดินเป็นถนนลาดยาง มีรถประจำทางวิ่ง มีรถยน์ส่วนตัว รถบรรทุกเยอะแยะ ต้นไม้หายไป มีบ้านคนมาแทน ทุ่งนาไม่มีการทำนา เข้าเมืองนั่งรถประจำทาง ครึ่งชั่วโมงเพราะรถจอดคอยคน หลานขับรถไปทำงานที่โรงพยาบาลอยุธยา ใช้เวลา 15 นาที ผมนั่งทำงาน ไปดูเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหว ที่ญี่ปุ่นได้ ดู CBS ของอเมริกา ผ่านทางเน็ตได้

ย้อนหลังไปสมัยพ่อขุนรามคำแหง มาถึงอยุธยา ถึงต้นรัตนโกสินทร์ การรบกันยังขี่ช้าง ขี่ม้า เป็นเวลา กว่า 500 ปี ความเปลี่ยนแปลงมีน้อยมาก

ช่วงประมาณ สัก 20-30 ปี มานี้ ความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เริ่มตั้งแต่คอมพิวเตอร์เข้ามา เทคโนโลยีเข้ามา ความเปลี่ยนแปลงในช่วง 20-30 ปีมานี้ มากกว่าความเปลี่ยนแปลงใน 500 ปี ที่ขี่ช้างขี่ม้ารบกัน

ทั้งหมดนี้ มันสัมพันธ์กันกับ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ การที่มีภัยพิบัติที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นหรือเปล่า

หลายคนเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นฝึมือมนุษย์ แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ที่เชื่อว่า เป็นวัฏจักรของโลก

ยังไม่มีข้อยุติ แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นฝีมือมนุษย์

โลกร้อนขึ้น กาซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย เกาะบางเกาะจะหายไป

Think globally, act locally. เป็นสโลแกนที่ให้ทุกคนช่วยกัน

ลองอ่าน เอกสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา ข้างล่างนี้นะครับ ผมเอามาบางส่วน

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติและมนุษย์เป็นตัวการสำคัญการเปลี่ยนแปลงโดยสาเหตุทางธรรมชาติต้องใช้ระยะเวลายาวนาน เช่น การเคลื่อนที่ของเปลือกโลกการหมุนของแกนโลก การหมุนของโลกรอบดวงอาทิตย์ โลกหมุนรอบตัวเอง และการเกิดจุดดับบนดวงอาทิตย์แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ จะเห็นผลได้ในระยะเวลาที่สั้นกว่า

มนุษย์เป็นผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่างๆในชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้นเช่น ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจก ละอองลอยและอื่นๆ เพิ่มขึ้นและเป็นตัวการสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของโลก

ถ้าสภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เช่น อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ทำให้ฤดูกาลต่างๆเปลี่ยนแปลงไป สิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถปรับตัว ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ก็จะค่อยๆสูญพันธุ์ไปในที่สุด บางพื้นที่กลายเป็นทะเลทราย น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายและทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

คาดว่าจะมีระดับน้ำทะเลสูงถึง 9-88 ซม. และอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.4-5.8 องศาเซลเซียส ในปี ค.ศ.2100 จะทำให้เกิดน้ำท่วม เกาะเล็กๆ จมหายไป พื้นที่ที่อยู่อาศัยลดน้อยลง และสร้างความเสียหายกับชายฝั่ง เขตภูมิอากาศ เขตนิเวศและเขตเกษตรเขตอบอุ่ นจะเคลื่อนไปอยู่ที่ละติจูดสูงขึ้นอีกประมาณ 150-550 กิโลเมตรป่าไม้ ทะเลทราย ทุ่งหญ้าและพื้นที่ธรรมชาติต่างๆ จะมีลักษณะอากาศชื้น แห้งแล้ง ร้อนหรือหนาวมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างกว้างขวาง คุกคามขีดความสามารถในการผลิตอาหารของโลก
ทำให้ทรัพยากรน้ำเปลี่ยนแปลง โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพต่างๆจะเสียหาย ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น

อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นนี้จะทำให้ จำนวน 1 ใน 4 ของสายพันธุ์พืชและสัตว์เกือบสูญพันธุ์ในปี ค.ศ.2050

นักวิทยาศาสตร์พบว่าทุกครั้งที่อุณหภูมิสูงขึ้น สภาพอากาศจะไม่มีเสถียรภาพ และทำให้อุณหภูมิลดต่ำลง จนนำไปสู่ช่วงยุคน้ำแข็งแต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า อุณหภูมิที่ไม่มีเสถียรภาพอยู่ในระดับใด

สิ่งที่ต้องสนใจและตระหนักถึงภัยที่เกิดขึ้นได้แก่
1. ความถี่และความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่น แผ่นดินไหว สึนามิ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และปรากฏการณ์ของสภาพอากาศที่เลวร้าย ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและส่งผลกระทบไปทั่วโลก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้เกิดภัยพิบัติขึ้น
2. กิจกรรมของมนุษย์เช่นการทำลายป่าไม้ และป่าชายเลนรวมทั้งแนวหินทางธรรมชาติส่งผลให้เกิดภัยพิบัติ ทางธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งผลกระทบที่เพิ่มขึ้นนี้มีผลต่อสังคม และบุคคลเป็นวงกว้างรวมทั้งการเติบโตและเพิ่มขึ้นของประชากรที่อ่อนแอ
3. การสร้างศักยภาพเพื่อลดความเสี่ยงทาง ภัยพิบัติและฟื้นฟูระดับชุมชน จะเป็นพื้นฐานของการลดผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติ

นั่นเป็นการรายงานอย่างเป็นทางการบางส่วน ของหน่วยงานของรัฐ กรมอุดุนิยมวิทยา

ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงในโลกจะมีสาเหตุใด ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นวัฏจักรของมันเอง หรือเป็นเพราะฝีมือมนุษย์ เราคงต้องช่วยกันเท่าที่ทำได้ หยุดถกเถียง หยุดเอาเปรียบ หยุดการเห็นแก่ตัว ยอมสียบ้าง และมาช่วยกันรักษาโลกใบนี้ไว้


อ้างอิง
http://www.tmd.go.th/ncct/article/climate.pdf
http://climatechange.ws/introduction/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุปมา อุปไมย สำนวนการเปรียบเทียบ ของไทย

ความสามารถทั่วไปด้านเหตุผล การหาความสัมพันธ์จาก ภาพ สัญลักษณ์

แนวข้อสอบ เงื่อนไขสัญลักษณ์