หมวด ก. |
สำนวน สุภาษิต | ความหมาย |
ก ข ไม่กระดิกหู | สอนไม่จำ เรียนเขียนอ่านแล้ว ไม่รู้เรื่อง อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ |
กงเกวียนกำเกวียน | เวรสนองเวร กรรมสนองกรรม ทำอะไรกับใครไว้ ย่อมได้รับผลกรรมนั้น |
กบในกะลาครอบ | ผู้มีประสบการณ์และความรู้น้อย แต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก |
กรวดน้ำคว่ำขัน (คว่ำกะลา) | ตัดขาดไม่เกี่ยวข้องด้วย |
กระเชอก้นรั่ว | ใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย ไม่ประหยัด ไม่เก็บหอมรอมริบ |
กระดังงาลนไฟ | ใช้เปรียบเทียบผู้หญิงที่เคย ผ่านการมีสามีหรือ แต่งงานมาแล้ว ย่อมรู้จักวิธีเอาอกเอาใจ ปรนนิบัติดูแลเอาใจใส่ ให้แก่ผู้ชายได้ดีกว่า ผู้หญิงที่ยังไม่เคยผ่านประสบการณ์ การแต่งงานมาก่อน
|
กระดี่ได้น้ำ | อาการแสดงความดีอกดีใจ ตื่นเต้นจนตัวสั่น |
กระต่ายขาเดียว | ยืนกรานไม่ยอมรับผิด ฉันไม่ได้ทำ ฉันเปล่านะ |
กระต่ายตื่นตูม | ตื่นตกใจง่าย ยังไม่ทันหาสาเหตุให้ชัดเจนเสียก่อนแล้วโวยวาย ใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว |
กระต่ายหมายจันทร์ | ผู้ชายที่หมายปองหญิงสูงศักดิ์ ฐานะดีกว่าตัวเอง |
กระโถนท้องพระโรง | บุคคลที่ถูกใคร ๆ รุมใช้อยู่คนเดียว |
กลับกลอกเป็นกระบอกจังหัน | จังหัน = กังหัน ข้อความนี้หมายถึง พูดจาไม่อยู่กับร่องกับรอย เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เชื่อถือไม่ได้ เปรียบเสมือนกระบอกกังหัน ที่หันไปหันมาแล้วแต่ว่ากระแสลมจะพัดมาทางไหน
|
กลับเนื้อกลับตัว | เลิกทำความชั่ว แล้วมาประพฤติตัวเป็นคนดี |
กลับหน้ามือเป็นหลังมือ | เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปอย่างตรงกันข้าม |
กล้านักมักบิ่น | กล้าเกินไปมักจะเกิดอันตรายได้ |
กลืนไม่เข้า คายไม่ออก | หมดหนทางที่จะทำหรือไม่รู้จะทำอย่างไรดีหรือ เป็นการทำให้ตัดสินใจไม่ถูก เพราะจะไม่ทำลงไปก็ไม่ดี ทำลงไปก็ไม่ดีเป็นการยากที่จะตัดสินใจทำลงไปได้ง่าย |
กวนน้ำให้ขุ่น | ทำเรื่องราวที่สงบอยู่แล้วให้เกิดวุ่นวายขึ้นมา |
กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ | ทำงาน 2 อย่าง แบบลังเลใจ แก้ปัญหาไม่ทันท่วงทีต้องเสียงานไป 1 อย่าง |
ก่อร่างสร้างตัว | ทำงานหาเงินเป็นกอบเป็นกำ ตั้งเนื้อตั้งตัวได้เป็นหลักฐาน |
กาคาบพริก | คนผิวดำที่ชอบแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีแดง |
กำขี้ดีกว่ากำตด | ได้มาบ้างดีกว่าไม่ได้อะไรเลย |
กำปั้นทุบดิน | ลักษณะการตอบที่ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ผู้ถามต้องการรู้ เช่น ฉันถามว่า “ทำไมนาฬิกาไม่เดิน” เขาตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า “เพราะมันตายน่ะซิ” |
กำแพงมีหูประตูมีช่อง / กำแพงมีหูประตูมีตา | จะพูดอะไรต้องระวัง อาจมีคนรู้ได้ |
กิ่งทองใบหยก | ชายหนุ่ม หญิงสาวเหมาะสมกันดีที่จะแต่งงาน |
กิ้งก่าได้ทอง | คนที่ได้ลาภยศแล้วทะนงตนลืมฐานะเดิม |
กินที่ลับไขที่แจ้ง | เอาความลับหรือเอาเรื่องที่ทำกันที่ลับมาเปิดเผยให้คนเขารู้ |
กินน้ำใต้ศอก | จำต้องยอมเป็นรองเขา, ไม่เทียมหน้าเทียมตาเท่า, (มักหมายถึงเมียน้อยที่ต้องยอมลงให้แก่เมียหลวง). |
กินน้ำพริกถ้วยเก่า | อยู่กับเมียคนเดิม |
กินน้ำไม่เผื่อแล้ง | มีเงิน มีของก็ใช้ถลุงเสียจนหมด ไม่ห่วงอนาคตข้างหน้า |
กินน้ำเห็นปลิง | ตะขิดตะขวงใจ รู้สึกไม่สบายใจที่จะทำอะไรสักอย่าง เพราะรู้สึกว่าอาจจะไม่ดี เปรียบเสมือนกับ จะกินน้ำแต่เห็นปลิงอยู่ในน้ำนั้น |
กินบนเรือนขี้บน/รดหลังคา | คนเนรคุณอาศัยบ้านเขาหรือเขาให้ความช่วยเหลือแต่กลับทำความบัดซบให้ |
กินปูนร้อนท้อง | ทำอาการมีพิรุธขึ้นเอง แสดงอาการเดือดร้อนขึ้นเอง |
กินเหมือนหมู อยู่เหมือนหมา | เละเทะไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย |
เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน | เก็บเล็กผสมน้อย เก็บส่วนเล็กส่วนน้อยจนเป็นรูปเป็นร่างเป็นกอบเป็นกำ |
เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง | เกลียดตัวเขา แต่อยากได้ผลประโยชน์จากเขา |
เกลือจิ้มเกลือ | แก้แค้นให้สาสมกับที่ทำไว้ ไม่ยอมเสียเปรียบกัน |
เกลือเป็นหนอน | ญาติมิตร สามีภรรยา บุตรธิดา เพื่อนร่วมงาน หรือคนในบ้านที่คิดทรยศ หนอนบ่อนไส้ |
เกี่ยวแฝกมุงป่า | ทำอะไรเกินกำลังความสามารถของตัว |
แกว่งเท้าหาเสี้ยน | อยู่ดีไม่ว่าดี ไปหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว |
ใกล้เกลือกินด่าง | มองข้ามหรือไม่รู้ค่าของดี ที่อยู่ใกล้ตัวซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ตน กลับไปแสวงหาสิ่งอื่น ที่ด้อยกว่า |
ไก่แก่แม่ปลาช่อน | หญิงมีอายุมาก มีมารยามาก เล่ห์เหลี่ยมมาก จัดจ้าน |
ไก่ได้พลอย | ได้สิ่งที่มีค่าแต่ไม่รู้คุณค่า สำนวนที่มีความหมายเดียวกัน คือ วานรได้แก้ว |
ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ | ต่างฝ่ายต่างรู้ความลับของกันและกัน |
ไกลปืนเที่ยง | ไม่ค่อยรู้ความเป็นไปของโลก เพราะอยู่ห่างไกลความเจริญ |
หมวด ข.-จ. |
สำนวน สุภาษิต | ความหมาย |
ขนทรายเข้าวัด | หาประโยชน์ให้ส่วนรวม |
ขนมผสมน้ำยา | พอดีกัน จะว่าข้างไหนดีกว่ากันไม่ได้ |
ขนหน้าแข้งไม่ร่วง | ไม่กระทบกระเทือนถึงเดือดร้อน |
ขมิ้นกับปูน | คนสองคนที่ไม่ลงรอยกัน หรือรสนิยมเข้ากันไม่ได้ เมื่ออยู่ใกล้กันก็มักจะมีปัญหากระทบกระทั่งหรือทะเลาะกัน |
ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า | บังคับขืนใจผู้อื่นให้ทำตามที่ใจเราปรารถนา |
ขว้างงูไม่พ้นคอ | ทำอะไรก็ตาม ผลร้ายย้อนกลับมาสู่ตัวเอง |
ขวานผ่าซาก | พูดจาตรง ๆ ไม่เกรงใจใคร |
ขายผ้าเอาหน้ารอด | ยอมเสียสละของสำคัญของตนเพื่อรักษาชื่อเสียงตนเอาไว้ |
ขิงก็รา ข่าก็แรง | ต่างไม่ยอมลดละกัน |
ขี่ช้างจับตั๊กแตน | ลงทุนมาก แต่กลับได้ผลนิดหน่อย |
ขุนนางใช่พ่อแม่ หินแง่ใช่ตายาย | ไม่ควรไว้วางใจใคร ถ้าไม่ใช่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติพี่น้อง |
ขุดด้วยปาก ถากด้วยตา | เหยียดหยามทั้งวาจา และสายตามองแบบดูถูก |
ขุดบ่อล่อปลา | ทำกลอุบายให้เขาเชื่อเพื่อหวังผลประโยชน์ |
เข็นครกขึ้นภูเขา | ทำงานที่ยากลำบากต้องใช้ความเพียรพยายามและอดทนมาก |
เข้าด้ายเข้าเข็ม | กำลังคับขันเวลากำลังสำคัญ ถ้าพลาดหรือมีอะไรมาขัดจังหวะจะเสียการ |
เข้าตามตรอก ออกตามประตู | ทำตามขนบธรรมเนียมประเพณี ส่วนใหญ่หมายถึงการแต่งงาน |
เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า | ให้รอบคอบ อย่าประมาท |
เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม | ทำตัวให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่คนในสังคมนั้นเขาทำกัน |
เขียนด้วยมือลบด้วยตีน | ยกย่องแล้วกลับทำลายในภายหลัง |
เขียนเสือให้วัวกลัว | หลอก ขู่ ให้ฝ่ายตรงข้ามเสียขวัญหรือเกรงขาม |
ไข่ในหิน | ของที่ต้องระมัดระวังทะนุถนอมอย่างยิ่ง |
คดในข้อ งอในกระดูก | มีสันดานคดโกง |
คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ | คนรักมีน้อย คนชังมีมาก |
คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ | จะคบเพื่อนต้องพิจารณาให้ดีเสียก่อน |
คลื่นกระทบฝั่ง | เรื่องราวเกิดขึ้นแล้วก็เงียบหายไปในที่สุด |
คลุมถุงชน | การแต่งงานที่เจ้าบ่าวเจ้าสาว ต่างไม่ได้รักกันมาก่อน โดนผู้ใหญ่จับแต่ง |
คมในฝัก | มีความรู้ความสามารถ แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลา ก็ไม่แสดงออกมาให้เห็น |
คว้าน้ำเหลว | ไม่ได้ผลตามต้องการ |
ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด | มีความรู้มากแต่ไม่รู้จักใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ |
คอขาดบาดตาย | ร้ายแรงถึงอาจต้องสูญเสียชีวิตได้ เกิดเหตุร้ายแรง ถึงขั้นอันตรายอาจถึงกับเสียชีวิต หรือเป็นเรื่องใหญ่มาก |
คอเป็นเอ็น | ขึ้นเสียงเถียงโต้อย่างไม่ยอมลดละ เถียงเก่ง ไม่ยอมลดราวาศอก |
คอหอยกับลูกกระเดือก | เข้ากันได้ดีแยกกันไม่ออกสนิทสนมกัน |
คางคกขึ้นวอ | คนจนพอได้ดีขึ้นมา ก็ลืมตัว |
คาหนังคาเขา | จับได้ในขณะที่กำลังทำผิดหรือพร้อมกับของกลาง |
โคแก่ชอบกินหญ้าอ่อน | ชายแก่ชอบหญิงเอ๊าะๆ เป็นเมีย |
ฆ้องปากแตก | เก็บความลับไม่อยู่ ชอบนำความลับของคนอื่นไปโพนทะนา |
ฆ่าควายอย่าเสียดายพริก/ฆ่าควายอย่าเสียดายเกลือ | จะทำการใหญ่ ไม่ควรตะหนี่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่าย ไม่เช่นนั้นอาจเสียการใหญ่ได้ เปรียบเหมือนฆ่าควายทั้งตัวเพื่อจะปรุงอาหารมากๆ ก็อย่าเสียดายพริกที่จะต้องใช้แกงหรือผัด มิฉะนั้นอาหาร จะเสียรสเพราะ เนื้อควายไม่ได้สัดส่วนกับพริกแกง ทำให้รสชาติไม่อร่อย หรือใส่เกลือน้อย ทำให้เนื้อควายเน่าเสีย แทนที่จะได้เนื้อเค็มที่ดี ก็ไม่ได้ เกลือราคาถูกกว่าเนื้อควายมาก |
งมเข็มในมหาสมุทร | ค้นหาสิ่งที่ยากจะค้นหาได้ |
งอมืองอตีน | เกียจคร้าน ไม่สนใจขวนขวายการทำงาน |
เงยหน้าอ้าปาก / ลืมตาอ้าปาก | มีฐานะดีขึ้นกว่าเดิม |
จองหองพองขน | เย่อหยิ่ง อวดดี ทะนงตน หรือ ไม่รู้จักบุญคุณ ด้วยการแสดงอาการ ลบหลู่ผู้มีพระคุณ |
จับงูข้างหาง | ทำสิ่งที่เสี่ยงต่ออันตราย |
จับแพะชนแกะ | ทำอย่างขอไปที ไม่ได้อย่างนี้ก็เอาอย่างนั้นเพื่อให้เสร็จๆ ไป |
จับปลาสองมือ | ต้องการเอาให้ได้ทั้งสองอย่าง, เสี่ยงทำการสองอย่างพร้อม ๆ กัน ซึ่งอาจไม่สำเร็จทั้งคู่ |
จับเสือมือเปล่า | หาผลประโยชน์โดยตัวเองไม่ลงทุน |
จุดไต้ตำตอ | พูดหรือทำบังเอิญไปโดนเจ้าของเรื่องโดยผู้พูดนั้นไม่รู้ตัว |
แจงสี่เบี้ย | อธิบายละเอียดชัดแจ้ง |
หมวด ช.-ด. |
สำนวน สุภาษิต | ความหมาย |
ชนักติดหลัง | ความชั่วหรือความผิดที่ยังติดตัวอยู่ |
ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน | ชักนำศัตรูเข้าบ้าน |
ชักใบให้เรือเสีย | พูดหรือขวางให้การสนทนาออกนอกเรื่อง |
ชักแม่น้ำทั้งห้า | พูดจาหว่านล้อม ยกยอคนอื่นว่าเขาดีเลิศ เพื่อเราจะได้สมปรารถนา |
ชักหน้าไม่ถึงหลัง | มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย |
ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ | พระสงฆ์จะประพฤติตัวอย่างไรก็เรื่องของท่าน ท่านก็ได้รับผลกรรมเอง |
ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม / ช้า ๆ ได้พร้าสองเล่มงาม | ค่อยๆคิด ค่อยๆทำ พิจารณาให้ดี รอบคอบ เดี๋ยวจะสัมฤทธิ์ผลเอง |
ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด | ความผิดร้ายแรงที่คนรู้ทั่วกันแล้ว จะปิดอย่างไรก็ไม่มิด |
ชิงสุกก่อนห่าม | ทำสิ่งที่ยังไม่สมควรแก่วัน หรือยังไม่ถึงเวลา (มักหมายถึงการลักลอบได้เสียกันก่อนแต่งงาน) |
ชี้นกบนปลายไม้ | หวังในสิ่งที่อยู่ไกลตัว มันเป็นไปได้ยาก |
ชุบมือเปิบ | ฉวยเอาผลประโยชน์ของผู้อื่น โดยตัวเองไมได้ลงทุนลงแรง |
ซื่อเหมือนแมวนอนหวด | ทำเป็นซื่อ ๆ |
ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าตรุษ / ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว | ซื้อของไม่คำนึงถึงกาลเวลาย่อมได้ของแพง ทำอะไรไม่เหมาะกับกาลเวลา ย่อมได้รับความเดือดร้อน |
หมวด ฒ.-ต. |
สำนวน สุภาษิต | ความหมาย |
เฒ่าหัวงู | คนแก่หรือคนมีอายุมากที่มีเล่ห์เหลี่ยมหรือกลอุบาย หลอกเด็กผู้หญิงในทางกามารมณ์ |
ดีดลูกคิดรางแก้ว | คิดถึงผลได้ ผลดีอย่างเดียว |
ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่, ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ | ให้รู้จักพิจารณาลักษณะบุคคลหรือผู้หญิงที่จะเลือกเป็นคู่ครอง |
เด็ดดอกไม้ร่วมต้น | เคยทำบุญกุศล ร่วมกันมา แต่ชาติก่อน จึงมาอยู่ร่วมกัน ในชาตินี้ |
เดินตามหลังผู้ใหญ่ หมาไม่กัด | ประพฤติตามอย่างผู้ใหญ่ย่อมปลอดภัย |
ได้ทีขี่แพะไล่ | ซ้ำเติมเมื่อผู้อื่นเพลี่ยงพล้ำ |
ตกกะไดพลอยโจน | จำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่มีทางเลี่ยง |
ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ | ตกอยู่ในที่คับขันอย่างไรก็ไม่เป็นอันตราย |
ตบมือข้างเดียวไม่ดัง | ทำอะไรฝ่ายเดียวไม่เกิดผล |
ตักน้ำรดหัวตอ | แนะนำเท่าไร พร่ำสอนเท่าไร ก็ไม่ได้ผล |
ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา | ให้รู้จักฐานะของตนและเจียมตัว |
ตักบาตรอย่าถามพระ | จะให้อะไรแก่คนอื่น อย่าไปถามเขาว่าเอาไหม อยากได้ไหม |
ตัดไฟต้นลม/ตัดไฟแต่ต้นลม/ตัดไฟหัวลม | ตัดต้นเหตุเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไป |
ตัดไม้ข่มนาม | ทำพิธีทางไสยศาสตร์ ก่อนออกสงคราม โดยหาไม้ที่มีชื่อเหมือน หรือสำเนียงคล้าย ชื่อข้าศึกมาตัดให้ขาด เพื่อเอาชัย |
ตัดหางปล่อยวัด | ตัดขาดไม่เกี่ยวข้อง |
ตาบอดคลำช้าง | คนที่รู้อะไรด้านเดียว แล้วเข้าใจแต่อย่างนั้น สิ่งนั้น |
ตาบอดได้แว่น | คนที่มีสิ่งที่ตัวเองใช้ประโยชน์ไม่ได้ มักใช้คู่กับ หัวล้านได้หวี |
ตาบอดสอดตาเห็น | อวดรู้ในเรื่องที่ตนไม่รู้ |
ตาลยอดด้วน | คนที่ไม่มีหนทางทำมาหากินคนไม่มีบุตรสืบสกุล |
ตำข้าวสารกรอกหม้อ | ทำพอให้เสร็จไปแค่ครั้งหนึ่ง ๆ พอพรุ่งนี้จะเอา ค่อยทำใหม่ |
ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ | เสียทรัพย์โดยไม่ได้รับประโยชน์อะไร |
ติเรือทั้งโกลน | ติพล่อย ๆ ตำหนิในสิ่งที่เขายังทำไม่เสร็จ
โกลนเรือยาว
ภาพจากเว็บคลองอู่ตะเภา http://www.khlong-u-taphao.com/
|
ตีงูให้กากิน | ทำสิ่งที่ตนควรจะได้รับประโยชน์ แต่กลับไม่ได้ ตกอยู่กับผู้อื่นซะเนี่ย |
ตีงูให้หลังหัก | ทำสิ่งใดแก่ศัตรูไม่เด็ดขาดจริงจัง ย่อมได้รับผลร้ายภายหลัง |
ตีตนก่อนไข้/ตีตนไปก่อนไข้/ตีตนตายก่อนไข้ | กังวลทุกข์ร้อนก่อน ในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น |
ตีนถีบปากกัด / ปากกัดตีนถีบ | มานะพยายามทำงานทุกอย่างเพื่อปากท้อง โดยไม่ห่วงคำนึงถึงความลำบาก |
ตีป่าให้เสือกลัว | ขู่ให้กลัว |
ตีวัวกระทบคราด | โกรธคนหนึ่งแต่ทำอะไรเขาไม่ได้ก็เลยรังควานอีกคนที่ตนเองสามารถทำได้ |
ตีสองหน้า | ทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างเข้าใจว่าเป็นพวกตน |
ตื่นแต่ดึก สึกแต่หนุ่ม | เร่งรัดเกินไปในเวลาที่ยังไม่เหมาะสม |
เต่าใหญ่ไข่กลบ | การที่ทำอะไรลงไปแล้วพยายามจะกลบเกลื่อนความผิดไม่ให้คนอื่นไดรับทราบ
ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึงเต่าตนุ เวลาวางไข่ จะขึ้นมาบนหาดทราบแล้วคุ้ยพื้นทรายให้เป็นหลุมแล้ววางไข่ลงไป จากนั้นก็จะคุ้ยทรายกลบลงไปเพื่อป้องกันการพบเจอของสัตว์ร้ายอื่นๆ |
เตี้ยอุ้มค่อม | คนจนแต่รับเลี้ยงดูคนที่ต่ำต้อยจนเหมือนกัน |
แตงร่มใบ | มีผิวเป็นนวลใยในวัยสาว |
หมวด ถ.-ป. |
สำนวน สุภาษิต | ความหมาย |
ถ่มน้ำลายรดฟ้า | ประทุษร้ายต่อสิ่งที่สูงกว่าตน ตัวเองย่อมได้รับผลร้าย |
ถอนรากถอนโคน | ทำลายให้สิ้นเสี้ยนหนาม |
ถอดเขี้ยว ถอดเล็บ | เลิกแสดงฤทธิ์เดชอำนาจอีก |
ถอยหลังเข้าคลอง | หวนกลับไปหาแบบเดิม ๆ ล้าสมัย |
ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น | ดูเหมือนจะรอบคอบถี่ถ้วน แต่รอบคอบไม่จริง |
ถึงพริกถึงขิง | การโต้ตอบที่รุนแรง ของทั้งสองฝ่าย |
เถรส่องบาตร | คนที่ทำอะไรตามเขาทั้ง ๆ ที่ไม่รู้เรื่องราว |
ท่าดีทีเหลว | มีท่าทางดี แต่ทำอะไรไม่ได้เรื่อง. |
ทำนาออมกล้า ทำปลาออมเกลือ | ทำการสิ่งใด ถ้ากลัวหมดเปลืองย่อมไม่ได้ผล |
นกไร้ไม้โหด | เป็นสำนวนเก่า ประกอบด้วยคำว่า นก ไร้ ไม้ และโหด คำว่า ไร้ และ โหด มีความหมายอย่างเดียวกันว่า ไม่มี นกไร้ไม้โหด หมายความว่า ไม่มีนกเพราะต้นไม้ไม่มีใบ สำนวนนี้มีที่มาจาก การสังเกตว่า ต้นไม้ที่ไม่มีใบ เหล่านกกา ก็จะไม่มาเกาะอาศัย ไม่มาทำรัง คำว่า นกไร้ไม้โหด นำมาใช้เปรียบกับบุคคล ที่สิ้นอำนาจวาสนา หรือตกอับ ไม่สามารถให้คุณ หรือเป็นที่พึ่งพาอาศัย แก่ใครได้แล้ว จะไม่มีใครมานอบน้อม มาฝากตัวให้ใช้สอย เหมือนเช่นเคย เช่น เขาเกษียณอายุราชการแล้ว ไม่มีอำนาจ ไม่มีบารมี จึงไม่มีผู้มานอบน้อม เป็นนกไร้ไม้โหด |
นกสองหัว | ทำตัวเข้ากับทั้ง 2 ฝ่ายที่เขาไม่ถูกกัน โดยหวังประโยชน์เพื่อตน |
นมยานกลิ้งอก | มีความจำเป็นบังคับให้ต้องตกอยู่ในความเดือดร้อน จะปัดออกไปก็ไม่พ้นตัว ไม่สามารถสลัดออกไปได้ |
นายว่าขี้ข้าพลอย | พลอยพูดผสมโรงติเตียนผู้อื่นตามเจ้านาย |
น้ำขุ่นอยู่ข้างใน น้ำใสอยู่ข้างนอก/น้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก | แม้จะไม่พอใจหรือโกรธฉุนเฉียวมากก็ต้องยิ้มแย้มแจ่มใสไว้ หรือการเก็บความไม่พอใจไว้ในใจ แสดงออกให้คนเห็นว่ายังเป็นมิตรกันอยู่ |
น้ำขึ้นให้รีบตัก | มีโอกาสดีก็ควรรีบทำ |
น้ำซึมบ่อทราย | รายได้เพิ่มเข้ามาเรื่อย ๆ ทีละเล็กทีละน้อย |
น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง | พูดมากได้สาระน้อย |
น้ำท่วมปาก | พูดไม่ได้ เกรงจะมีภัยแก่ตนหรือผู้อื่น |
น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา | โอกาสของใครคนนั้นก็จะกระทำการได้เปรียบกว่าอีกฝ่าย แต่เมื่อถึงโอกาสของอีกฝ่าย ฝ่ายนั้นก็จะได้เปรียบบ้างเช่นกัน |
น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย | คำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน ซึ่งถูกใจผู้ฟัง แต่อาจเป็นโทษเป็นภัยได้ และคำพูดที่ตรงไปตรงมา แบบขวานผ่าซาก อาจไม่ถูกใจผู้ฟัง แต่ไม่เป็นพิษเป็นภัย |
น้ำลดตอผุด | เมื่อหมดอำนาจ ความชั่วที่ทำไว้ก็ปรากฎ |
น้ำลอดใต้ทราย | หมายถึง การกระทำบางสิ่งบางอย่างที่เป็นไปอย่างลับๆ ไม่มีผู้รู้เห็น |
นํ้าสั่งฟ้า ปลาสั่งฝน | สั่งเสียเป็นครั้งสุดท้าย ทําการอันใดที่เป็นสิ่งสําคัญเพื่อไว้อาลัยก่อนจากไป บางทีพูดว่า ฝนสั่งฟ้า ปลาสั่งหนอง |
เนื้อเต่ายำเต่า | นำเอาทรัพย์สินส่วนที่เป็นกำไรหรือดอกเบี้ยกลับไปลงทุนต่อไปอีกโดยไม่ต้องใช้ทุนเดิม. |
บนข้าวผี ตีข้าวพระ | ขอร้องให้เทวดาผีสางนางไม้ช่วยโดยการบน |
บอกหนังสือสังฆราช | สอนสิ่งที่เขารู้ดีอยู่แล้ว |
เบี้ยบ้ายรายทาง | เงินที่ต้องใช้จ่าย หรือเสี่ยไปเรื่อย ๆ ในขณะทำธุรกิจให้สำเร็จ |
ปลาติดร่างแห (ติดหลังแห) | คนที่พลอยรับเคราะห์กรรมกับคนอื่น ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีส่วนพัวพัน |
ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง | การพยายามสร้างเรื่อง ทำให้เกิดเรื่องราวขึ้นมา หรือทำเรื่องที่จบไปแล้ว ให้กลับมีเรื่องมีราวขึ้นมาใหม่ |
ปากปราศรัย ใจเชือดคอ | พูดดีแต่ใจคิดร้าย |
ปากว่าตาขยิบ | พูดอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่ง ปากกับใจไม่ตรงกัน |
ปากหวานก้นเปรี้ยว | พูดจาอ่อนหวาน แต่ไม่จริงใจ |
ปิดทองหลังพระ | ทำดีแต่ไม่มีใครยกย่อง เพราะมองไม่เห็นคุณค่า |
ไปไหนมา สามวาสองศอก | ถามอย่างหนึ่ง ตอบไปอีกอย่างหนึ่ง |
หมวด ผ.-ย. |
สำนวน สุภาษิต | ความหมาย |
ผักชีโรยหน้า | ทำความดีเพียงผิวเผิน |
ผัวหาบ เมียคอน | ช่วยกันทำมาหากินทั้งผัวและเมีย |
ผีซ้ำด้ำพลอย | ถูกซ้ำเติม เมื่อพลาดพลั้งหรือเมื่อคราวเคราะห์ร้าย |
ผีถึงป่าช้า | ต้องยอมทำ เพราะจำใจหรือไม่มีทางเลือก |
ผู้ดีแปดสาแหรก | หมายถึง คนที่ทำกรีดกรายเอาอย่างผู้ดี |
ฝนตกไม่ทั่วฟ้า | ให้หรือแจกจ่ายอะไรไม่ทั่วถึงกัน |
ฝนทั่งให้เป็นเข็ม | เพียรพยายามสุดความสามารถจนสำเร็จ |
ฝนตกไม่ทั่วฟ้า | ให้หรือแจกจ่ายอะไรไม่ทั่วถึงกัน |
ฝนสั่งฟ้า ปลาสั่งหนอง | สั่งเสียเป็นครั้งสุดท้าย ทําการอันใดที่เป็นสิ่งสําคัญเพื่อไว้อาลัยก่อนจากไป นํ้าสั่งฟ้า ปลาสั่งฝน ก็ว่า |
พบไม้งามเมื่อขวานบิ่น | พบหญิงสาวที่ถูกใจ เมื่อแก่แล้ว |
พออ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ | รู้ทันกัน ไม่มีทางจะโกหก หลอกกันได้ |
พูดเป็นต่อยหอย | พูดฉอด ๆ ไม่หยุดปาก เม้าท์เก่ง |
พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง | พูดไปไม่มีประโยชน์ นิ่งเสียดีกว่า สงบสยบความเคลื่อนไหว |
มะนาวไม่มีน้ำ | พูดห้วน ๆ |
มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก | พูดจาตลบตะแลงพลิกแพลงไปมาจนจับคำพูดไม่ทัน |
มากหมอมากความ | มากคนก็มากเรื่อง วุ่นวาย ต่างคนต่างก็ถือความคิดตัวเอง |
มือถือสาก ปากถือศีล | ชอบแสดงตัวตนว่าเป็นคนมีศีล มีธรรม แต่ทำความเลวเป็นนิจ |
มือห่าง ตีนห่าง | สุรุ่ยสุร่าย เลินเล่อ สะเพร่า ไม่ระมัดระวัง |
ไม่ดูตาม้าตาเรือ | ไม่พิจารณารอบคอบดูให้ดี |
ไม่เป็นโล้เป็นพาย | ไม่ได้เรื่องได้ราว, จับจด, ไม่จริงจัง, เช่น ทำงานไม่เป็นโล้เป็นพาย |
ไม่รู้จักหัวนอนปลายตีน | ไม่รู้ว่าบ้านช่องอยู่ไหน เป็นลูกหลานใคร ไม่รู้จักพื้นเพ |
ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกก่งหน้าไม้ | ด่วนตัดสินใจทำอะไรเลยไป ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาอันควร |
ไม้ใกล้ฝั่ง | แก่มาก อายุขัยใกล้ตาย |
ไม่หลักปักไม้เลน | โลเล ไม่แน่นอน |
ยกตนข่มท่าน | พูดทับถมผู้อื่นแสดงให้เห็นว่าตัวเหนือกว่า |
ยกภูเขาออกจากอก | โล่งอก หมดวิตกกังวล |
ยื่นแก้วให้วานร | เอาของมีค่าให้คนที่ไม่รู้จักค่าของสิ่งนั้น |
หมวด ร.-ส. |
สำนวน สุภาษิต | ความหมาย |
รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ | รักจะคบกันนาน ๆ ให้ตัดความคิดอาฆาตพยาบาทออกไป รักจะอยู่สั้น ๆ ให้คิดอาฆาต |
รีดเลือดกับปู | บังคับเอากับผู้ยากจนที่ไม่มีจะให้ |
เรียบร้อยโรงเรียนจีน | เสร็จไปแล้ว เรียบร้อยไปแบบแน่นอนแล้ว หมายความว่าและโดนเก็บไปแล้ว มีที่มาสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม สั่งตรวจสอบโรงเรียนจีนที่ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และตรวจยึดเอกสารคอมมิวนิตส์ที่โรงเรียนจีน |
ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก | ดีแต่พูด เม้าท์ แต่ทำจริง ๆ ทำไม่ได้ |
ลางเนื้อชอบลางยา | ของบางสิ่งอาจถูก เข้ากันได้ดี เหมาะกับคนหนึ่ง แต่อาจไม่เหมาะกับอีกคน |
ลิงได้แก้ว | ผู้ที่ไม่รู้คุณค่าของสิ่งมีค่าที่ได้มาหรือที่มีอยู่ อีกสำนวนที่มีความหมายเดียวกันคือ วานรได้แก้ว |
ลูกขุนพลอยพยัก | พวกประจบสอพลอ ผู้ที่คอยว่าตามผู้ใหญ่ เจ้านาย |
ลูกผีลูกคน | จะเอาแน่นอนไม่ได้ มักใช้ในกรณีสำคัญๆ |
ลูบหน้าปะจมูก | จะทำอะไรเด็ดขาดจริงจังลงไปไม่ได้ เพราะเกรงจะไปกระทบพวกพ้องตัวเอง |
เล่นเอาเถิดเจ้าล่อ | อาการหลบไปมาเพื่อไม่ให้พบ |
เลือดข้นกว่าน้ำ | ญาติพี่น้องย่อมดีกว่าคนอื่น |
เลือดขึ้นหน้า | โกรธมากจนหน้าแดง, โมโห |
เลือดเข้าตา | ฮึดสู้โดยไม่เกรงกลัวเพราะไม่มีทางเลือกหรือเจ็บช้ำน้ำใจเป็นต้น, กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำเพราะทนถูกบีบคั้นไม่ไหว |
เลือดเดือด | โมโหฉุนเฉียวขึ้นมาทันทีทันใด |
เลือดร้อน | โกรธง่าย, โมโหง่าย |
วัวใครเข้าคอกคนนั้น | กรรมที่ใครสร้างไว้ ย่อส่งผลให้แก่ผู้นั้น |
วานรได้แก้ว | ผู้ที่ไม่รู้คุณค่าของสิ่งมีค่าที่ได้มาหรือที่มีอยู่ อีกสำนวนที่มีความหมายเดียวกันคือ ลิงได้แก้ว |
ว่ายน้ำหาจระเข้ | เสี่ยงเข้าพบทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นอันตราย |
ศรศิลป์ไม่กินกัน | ไม่ถูกกัน ไม่ลงรอยกัน ไม่ชอบหน้ากัน |
สร้างวิมานในอากาศ | คิดคาดหวัง จะมีจะเป็นอะไรอย่างเลิศลอย |
สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ | ความสุขที่เกิดจาการทำดี ทำชั่ว อยู่ที่ใจทั้งนั้น |
สองฝักสองฝ่าย | ทำตัวเข้ากับ 2 ฝ่ายที่ไม่ถูกกัน โดยหวังประโยชน์เพื่อตน |
สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ | สอนสิ่งที่เขารู้ดีหรือถนัดอยู่แล้ว |
สาวไส้ให้กากิน | เอาความลับของตน หรือพวกตนไปเผยให้คนอื่นรู้เป็นการประจานตน |
สิ้นไร้ไม้ตอก | ยากไร้ ขัดสนถึงที่สุด ไม่มีทรัพย์สมบัติติดตัว |
สิบเบี้ยใกล้มือ | ของหรือประโยชน์ที่ควรได้ก็เอาไว้ก่อน |
สุกเอาเผากิน | ทำลวก ๆ ทำพอเสร็จไปครั้ง ๆ หนึ่ง |
เส้นผมบังภูเขา | เรื่องง่าย ๆ แต่คิดไม่ออก เหมือนมีอะไรมาบังอยู่ |
สอนจระเข้ว่ายน้ำ | สอนผู้ที่รู้ดีอยู่แล้ว ย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใด ทั้งอาจเป็นที่ขบขันของผู้รู้เห็นอีกด้วย |
ใส่สาแหรกแขวนไว้ | เลี้ยงดูอย่างพะเน้าพะนอไม่ต้องให้ทำอะไร |
หมวด ห.-อ. |
สำนวน สุภาษิต | ความหมาย |
หงิมๆ หยิบชิ้นปลามัน | บุคลิกลักษณะเรียบร้อย แต่ความจริงฉลาด เลือกเอาดี ๆ ไปได้ |
หญ้าปากคอก | สะดวก ง่าย ไม่มีอะไรยุ่งยาก |
หนังหน้าไฟ | ผู้ที่คอยรับหน้า รับความเดือดร้อนก่อนผู้อื่น |
หนามยอกเอาหนามบ่ง | ตอบโต้หรือแก้ด้วยวิธีการทำนองเดียวกัน |
หน้าเนื้อใจเสือ | หน้าตาแสดงความเมตตา แต่ใจโหดเหี้ยม |
หน้าสิ่วหน้าขวาน | อยู่ในระยะอันตราย เพราะอีกฝ่ายหนึ่งกำลังโกรธ |
หน้าไหว้หลังหลอก | ต่อหน้าทำเป็นดี แต่พอลับหลังก็นินทา หรือหาทางทำร้าย, มีความหมายเดียงกับ ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก |
หมาในรางหญ้า | คนที่หวงแหนสิ่งที่ตนเองกินหรือใช้ไม่ได้ แต่ไม่ยอมให้คนอื่นกินหรือใช้ |
หมาสองราง | คนที่ทำตัวเข้าทั้ง 2 ฝ่ายที่เป็นศัตรูกัน โดยหวังประโยชน์เพื่อตน |
หยิกเล็บเจ็บเนื้อ | เมื่อทำความเดือดร้อนให้แก่คนใกล้ชิด ก็จะมีผลกระทบถึงตัวผู้ทำหรือพวกพ้อง |
หนีเสือปะจระเข้ | หนีอันตรายอย่างหนึ่งแล้วไปเจอกับอันตรายอีกอย่างหนึ่ง |
หอกข้างแคร่ | คนใกล้ชิดที่จะคอยทำร้ายเมื่อใดก็ได้ |
หักด้ามพร้าด้วยเข่า | หักโหมเอาด้วยกำลัง ใช้อำนาจบังคับเขา |
หัวแก้วหัวแหวน | เป็นที่รักใคร่เอ็นดูมาก |
หัวมงกุฏ ท้ายมังกร | ไม่เข้ากัน ไม่กลมกลืนกัน |
หัวหลักหัวตอ | บุคคลที่น้อยใจ เพราะคนอื่นมองข้ามความสำคัญ ไม่ยอมมาปรึกษา |
เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ | หยิบหย่ง, ทำอะไรไม่จริงจัง, ไม่เอาการเอางาน |
เหยียบเรือสองแคม | ทำทีเข้าด้วยทั้ง 2 ฝ่าย |
หูผีจมูกมด | ไหวตัวทันเหตุการณ์ตลอด |
หาเหาใส่หัว | รนหาเรื่องเดือดร้อน รำคาญใส่ตน |
อาภัพเหมือนปูน | ทำดีแต่มักถูกมองข้ามไปหรือไม่มีใครมองเห็น คล้ายในการกินหมาก จะต้องมีหมาก พลู ปูน 3 อย่างประกอบกัน แต่คนมักพูดว่า กินหมากกินพลู โดยมิได้พูดถึงปูนเลย จะพูดถึงบ้างก็เป็นไปในทางที่ไม่ดีว่า ปูนกัดปาก |
อัฐยายซื้อขนมยาย | เอาทรัพย์จากผู้ปกครองหญิงที่จะขอแต่งงานด้วย มอบให้เป็นสินสอดทองหมั้นแก่ผู้ปกครองหญิงนั้นโดยสมรู้กัน, โดยปริยายหมายถึงการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกันนี้ เช่น เอาทรัพย์จากผู้ใดผู้หนึ่งซื้อหรือแลกสิ่งของอื่นของผู้นั้น |
เออออ, เออออห่อหมก | เห็นด้วย, พลอยเห็นตามไปด้วย, เช่น เขาก็เออออห่อหมกด้วย |
เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน | แสดงความรู้หรืออวดรู้กับผู้ที่รู้เรื่องดีกว่า |
เอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง | เอาทรัพย์หรือสิ่งของจากคนที่มีน้อยไปให้ผู้ที่มีมากกว่า |
เอามือซุกหีบ | หาเรื่องเดือดร้อนหรือความลำบากใส่ตัวโดยใช่ที่ |
เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง | คัดค้านผู้มีอำนาจ ฐานะสูงกว่า หรือผู้ใหญ่กว่า มักจะล้มเหลว |
เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ | แสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ไม่รับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น สำนวนนี้มักจะใช้เปรียบเทียบถึง บุคคลที่มีหน้าที่ต้องรับรู้ ต้องตัดสินใจในสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเป็นอยู่ แต่เขาก็แกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเสีย |
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น