การใช้ "การ" หรือ "ความ" นำหน้าคำในภาษาไทย ข้อสอบ ก.พ.
การใช้ การ หรือ ความ นำหน้าคำในภาษาไทย
คำที่มี “การ” หรือ “ความ” นำหน้า เป็นคำนามที่ใช้บอกอาการกระทำ
หรือที่เรียกว่า อาการนาม มีหลักในการใช้ ดังนี้
การใช้ “การ”
การสามารถใช้นำหน้าคำนาม หรือคำกริยา ได้
- นำหน้าคำนาม จะหมายความว่า เรื่อง, ธุระ, หน้าที่ เช่น การบ้าน การครัว การคลัง
การเมือง การไฟฟ้า การประปา เป็นต้น
- นำหน้าคำกริยา ส่วนมากมักจะเป็น คำกริยาที่แสดงความเป็นไปทางกาย
ซึ่งจะทำให้คำกริยานั้นเป็นคำนาม เช่น การกิน การเดิน การออกกำลังกาย การขับรถ
การวิ่ง การเล่นกีฬา การปฐมพยาบาล
การหายใจ การจับกุม การสืบสวนสอบสวน เป็นต้น
การใช้ “ความ”
ความ สามารถใช้นำหน้าคำกริยาหรือคำวิเศษณ์เพื่อแสดงสภาพ
หรือคำนาม ก็ได้
- นำหน้าคำกริยา มักจะเป็นคำกริยาที่แสดงความเป็นไปทางจิตใจ
หรือคำที่แสดงความนึกคิด เป็นนามธรรม เช่น ความรู้ ความคิด
ความเข้าใจ ความหวัง ความอดทน ความเมตตา ความสงบเรียบร้อย ความเจริญ ความเสื่อม เป็นต้น
- วลีที่มีคำกริยา “มี” และ "เป็น"
นำหน้าคำนาม หรือ คำวิเศษณ์ ให้ใช้ "ความ" นำหน้าเสมอ เช่น ความเป็นเพื่อน
ความเป็นมนุษย์ ความเป็นใหญ่ ความมีพลัง ความมีสติ
ความมีโชค เป็นต้น
- นำหน้าคำวิเศษณ์ เช่น ความดี ความชั่ว
ความสูง ความยาว ความอบอุ่น
ความร้อน ความแห้งแล้ง ความเดือดร้อน
ความอ่อนแอ ความรวดเร็ว
ความร่ำรวย เป็นต้น
- นำหน้าคำนาม เช่น ความวัว ความควาย
ในประโยคที่ว่า ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม
คำบางคำ ก็สามารถใช้ได้ทั้ง การ และความ แต่ความหมายอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง ลองดูประโยค ต่อไปนี้
อย่างไรก็ตาม
คำบางคำ ก็สามารถใช้ได้ทั้ง การ และความ แต่ความหมายอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง ลองดูประโยค ต่อไปนี้
- การเป็นผู้นำที่ดี ไม่ใช่ใคร ๆ ก็ทำได้ (รูปธรรม - กระทำอาการได้)
- ความเป็นผู้นำ เป็นสิ่งที่สามารถสร้างกันได้ มิใช่สิ่งที่มีมาแต่กำเนิด (นามธรรม)
- การคิดเลขเร็ว เป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ (รูปธรรม - กระทำอาการได้)
- ความคิดสร้างสรรค์ เป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ (นามธรรม)
- การเสียสละสิ่งของให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย เป็นสิ่งที่ควรกระทำ (รูปธรรม - กระทำอาการได้)
- ความเสียสละเพื่อส่วนรวม เป็นคุณสมบัติที่พึงมีของคนในชาติ(นามธรรม)
ดังนั้น การเลือกใช้ การ หรือ ความ จึงต้องพิจารณาความหมายและบริบทของประโยคประกอบด้วย จึงจะสามารถเลือกใช้ได้ ถูกต้อง เหมาะสม และสื่อความหมายตรงกัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น