ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน
(ลงประกาศในราชกิจจานะเบกษา เล่ม ๑๒๖ ตอนพิเศษ ๑๖๒ ง วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๒)
สรุปสาระสำคัญของประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน มีดังนี้
1 . ข้าราชการต้องยึดมั่นในจริยธรรมและยืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรม
(1) ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมอย่างตรงไปตรงมา และไม่กระทำการหลีกเลี่ยงประมวลจริยธรรมนี้
(2) เมื่อรู้หรือพบการฝ่าฝืน ต้องรายงานต่อหัวหน้าส่วนราชการ หรือคณะกรรมการจริยธรรมโดยพลัน
(3) ต้องรายงานการดำรงตำแหน่งในนิติบุคคล ซึ่งมิใช่ส่วนราชการฯ ในกรณีที่อาจขัดแย้ง กับการปฏิบัติหน้าที่ หรืออาจทำให้การปฏิบัติหน้าที่เสียหาย
(4) ร่วมประชุมแล้วพบว่า มีการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม หรือมีการเสนอเรื่องผ่านตน ต้องคัดค้านการกระทำดังกล่าว และบันทึกไว้ในรายงานการประชุม
2 . ข้าราชการต้องมีจิตสำนึกที่ดีและรับผิดชอบต่อหน้าที่เสียสละ ปฏิบัติหน้าที่ด้วย ความรวดเร็ว โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
(1) อุทิศตนให้กับการปฏิบัติงานในหน้าที่ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง เต็มกำลังความสามารถ
(2) ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตำแหน่งหน้าที่ของตน หรือข้าราชการอื่น ไม่ก้าวก่าย หรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการอื่นโดยมิชอบ
(3) ใช้ดุลพินิจและตัดสินใจ ด้วยความรู้ความสามารถเยี่ยงที่ปฏิบัติในวิชาชีพ ตรงไป ตรงมา ปราศจากอคติ ตามข้อมูลพยานหลักฐานและความเหมาะสม
(4) เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ต้องรีบแก้ไขให้ถูกต้องและแจ้งให้หัวหน้าส่วนราชการ ทราบโดยพลัน
(5) ไม่ขัดขวางการตรวจสอบของหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบตามกฎหมาย หรือประชาชนให้ความร่วมมือ
(6)ไม่สั่งการด้วยวาจาในเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ในกรณีสั่งการด้วยวาจาดังกล่าว ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาบันทึกเรื่องเป็นลายลักษณ์ ตามคำสั่ง เพื่อให้ผู้สั่งพิจาราณาการต่อไป
3 . ข้าราชการต้องแยกเรื่องส่วนตัวออกจากตำแหน่งหน้าที่และยึดถือประโยชน์ส่วนรวม ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน
(1) ไม่นำความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ตนมีต่อบุคคลอื่นมาประกอบการใช้ดุลพินิจให้เป็นคุณ หรือโทษต่อบุคคลอื่น
(2) ไม่ใช้เวลาราชการ เงิน ทรัพย์สิน บุคลากร หรือสิ่งอำนวยความสะดวกของ ทางราชการไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของตนหรือผู้อื่น
(3) ไม่กระทำการใด หรือดำรงตำแหน่ง หรือปฏิบัติการใดในฐานะส่วนตัว ก่อให้เกิด ความเคลือบแคลง หรือสงสัยว่าจะขัดกับประโยชน์ส่วนรวมที่อยู่ในความรับผิดชอบ ของหน้าที่
(4) ในการปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบในหน่วยงานโดยตรง หรือหน้าที่อื่น ต้องยึดหลักถือ
ประโยชน์ของทางราชการ
4 . ข้าราชการต้องละเว้นจากการแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบ โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ และไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม
(1) ไม่เรียก รับ หรือยอมจะรับ หรือยอมให้บุคคลอื่นเรียกรับ หรือยอมรับ ซึ่งของขวัญแทนตน หรือญาติของตน ไม่ว่าก่อน หรือหลังดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ก็ตาม เว้นแต่เป็นการให้โดยธรรมจรรยา หรือเป็นการให้ตามประเพณีหรือให้แก่บุคคลทั่วไป
(2) ไม่ใช้ตำแหน่ง หรือกระทำการที่เป็นคุณ หรือเป็นโทษแก่บุคคลใด เพราะมีอคติ
(3) ไม่เสนอ หรืออนุมัติโครงการ การดำเนินการ หรือการกระทำนิติกรรมหรือสัญญา ซึ่งตนเองหรือบุคคลอื่นจะได้ประโยชน์อันมิควรได้ โดยชอบด้วยกฎหมาย
หรือประมวลจริยธรรมนี้
5 . ข้าราชการต้องเคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา
(1) ไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญ กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่ชอบ ด้วยกฎหมาย
(2) ในกรณีที่เห็นว่าคำสั่งผู้บังคับบัญชา หรือการดำเนินการใดที่ตนมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ชอบ ต้องทักท้วงเป็นลายลักษณ์อักษรไว้
(3) ถ้าเห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องทำเรื่องเสนอหัวหน้าส่วนราชการพิจารณา และส่งเรื่องให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการให้ได้ข้อยุติ ตามกฎหมาย
(4) ไม่หลีกเลี่ยงกฎหมาย ใช้หรือแนะนำให้ใช้ช่องว่างของกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น และต้องเร่งแก้ไขช่องว่างดังกล่าวโดยเร็ว
(5) ไม่ยอมให้บุคคลอื่นอาศัยชื่อตนเอง หรือครอบครอง ทรัพย์สิน สิทธิหรือประโยชน์อื่นใดแทนบุคคลอื่น อันเป็นการเลี่ยงกฎหมาย หรือใช้ชื่อบุคคลอื่นถือครองสิ่งดังกล่าวแทนตน หรือปกปิดทรัพย์สินของตน
(6) เมื่อทราบว่ามีการละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในส่วนราชการของตน หัวหน้าส่วนราชการต้องดำเนินการที่จำเป็น เพื่อให้เกิดการเคารพกฎหมายขึ้นโดยเร็ว
(7) เมื่อได้รับคำร้อง หรือคำแนะนำจากผู้ตรวจการแผ่นดินหรือหน่วยงานอื่นว่ากฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการของตน สร้างภาระเกินสมควรแก่ประชาชน หรือสร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้น ต้องดำเนินการทบทวนกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับดังกล่าวโดยเร็ว
6 . ข้าราชการต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรมเป็นกลางทางการเมือง ให้บริการแก่ประชาชน โดยมีอัธยาศัยที่ดี และไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
(1) ปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วง โดยไม่หลีกเลี่ยง ละเลย หรือละเว้นการใช้อำนาจเกินกว่าที่มีอยู่ ตามกฎหมาย
(2) ปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินการอื่น โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพ ของบุคคล ไม่กระทำการให้กระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือก่อภาระหรือหน้าที่ให้บุคคล โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย
(3) ให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยมีอัธยาศัยที่ดี ปราศจากอคติ และไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลผู้มาติดต่อโดยไม่เป็นธรรม
(4) ละเว้นการให้สัมภาษณ์ การอภิปราย การแสดงปาฐกถา การบรรยาย หรือการวิพากษ์วิจารณ์อันกระทบต่อความเป็นกลางทางการเมือง เว้นแต่เป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการตามหลักวิชา
(5) ไม่เอื้อประโยชน์เป็นพิเศษแก่ญาติพี่น้อง พรรคพวก เพื่อนฝูง หรือผู้มีพระคุณ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรมไม่เห็นแก่หน้าผู้ใด
(6) ไม่ลอก หรือนำผลงานของผู้อื่นมาใช้เป็นของตนเอง โดยมิได้ระบุแหล่งที่มา
7 . ข้าราชการต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของทางราชการอย่างเคร่งครัด และรวดเร็วไม่ถ่วงเวลาให้เนิ่นช้า และใช้ข้อมูลข่าวสารที่ได้มาจากการดำเนินงานเพื่อการในหน้าที่ และให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้องทันการณ์ และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
(1) ไม่ใช้ข้อมูลที่ได้มาจากการดำเนินงานไปเพื่อการอื่นอันไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือบุคคลอื่น
(2) ชี้แจง แสดงเหตุผลที่แท้จริงอย่างครบถ้วนในกรณีที่กระทำการอันกระทบต่อสิทธิ และเสรีภาพบุคคลอื่น ไม่อนุญาต หรือไม่อนุมัติตามคำขอของบุคคล หรือเมื่อบุคคลร้องขอตามกฎหมาย เว้นแต่การอันคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้กำหนดยกเว้นไว้
8 . ข้าราชการต้องมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน รักษาคุณภาพและมาตรฐานแห่งวิชาชีพโดยเคร่งครัด
(1) ปฏิบัติงานโดยมุ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานให้เกิดผลดีที่สุดจนเต็มกำลังความสามารถ
(2) ใช้งบประมาณ ทรัพย์สิน สิทธิและประโยชน์ที่ทางราชการจัดให้ ด้วยความประหยัด คุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย
(3) ใช้ความรู้ความสามารถ ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ตามคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพโดยเคร่งครัด
9 . ข้าราชการต้องยึดมั่นในการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(1) ไม่แสดงการต่อต้านการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือสนันสนุนให้นำการปกครองในระบอบอื่นที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาใช้ในประเทศไทย
(2) จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และไม่ละเมิดองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระรัชทายาท ไม่ว่าทางการหรือวาจา
10 . ข้าราชการต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงตนรักษาชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของราชการโดยรวม
(1) ไม่ละเมิดหลักสำคัญทางศีลธรรม ศาสนา และประเพณี
(2) หัวหน้าส่วนราชการและผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นต้องปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ด้วยความเที่ยงธรรม โดยไม่เห็นแก่ความสัมพันธ์หรือบุญคุณส่วนตัวและควบคุมให้ผู้อยู่ ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมโดยเคร่งครัด
(3) หัวหน้าส่วนราชการและผู้บังคับบัญชาทุกระดับต้องสนับสนุน ส่งเสริมและยกย่อง ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่มีความซื่อสัตย์ มีผลงานดีเด่น มีความรู้ความสามารถและขยันขันแข็ง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง และยึดมั่นในระบบคุณธรรม
(4) ไม่กระทำการใดอันอาจนำความเสื่อมเสีย และไม่วางใจให้เกิดแก่ส่วนราชการ หรือราชการโดยรวม กองการเจ้าหน้าที่ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 279 ได้มีการกำหนดประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนนั้น เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้งานราชการแผ่นดินในส่วนที่ตนรับผิดชอบเกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม และให้ข้าราชการเกิดความสำนึกลึกซึ้ง และเที่ยงธรรมในหน้าที่ผดุงเกียรติและศักดิ์ศรีข้าราชการ ดังนั้น เพื่อให้ข้าราชการในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินงานตามหน้าที่เพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการมีประมวลจริยธรรมนั้น จึงเห็นสมควรแจ้งเวียน ให้ข้าราชการ ในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับทราบต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น