พระราชบัญญัติ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
พ.ศ. ๒๕๓๙
-----------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙
เป็นปีที่ ๕๑ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกถ้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่สมควรมีกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกถ้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
(ลงประกาศ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓/ตอนที่ ๖๐ ก/หน้า ๒๕/๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙)
มาตรา ๓ บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับใด ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่ง ขัด หรือแย้ง กับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“เจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นการ แต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการ หรือฐานะอื่นใด
“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกซื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือพระราช กฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตาม พระราชบัญญัตินี้ด้วย
มาตรา ๕ หน่วยงานของรัฐ ต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิด ที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าว ได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
ถ้าการละเมิด เกิดจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใด ให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็น หน่วยงานของรัฐ ที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๖ ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องรับผิด ในการนั้นเป็นการเฉพาะตัว ในกรณีนี้ ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง แต่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้
มาตรา ๗ ในคดีที่ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐ ถ้าหน่วยงานของรัฐเห็นว่า เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องรับผิด หรือต้องร่วมรับผิด หรือในคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเจ้าหน้าที่ ถ้าเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิด หรือต้องร่วมรับผิด หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าว มีสิทธิขอให้ศาลที่พิจารณาคดีนั้นอยู่ เรียกเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานของรัฐ แล้วแต่กรณี เข้ามาเป็นคู่ความในคดี
ถ้าศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ ที่ถูกฟ้องมิใช่ผู้ต้องรับผิด ให้ขยายอายุความฟ้องร้องผู้ที่ต้องรับผิด ซึ่งมิได้ถูกเรียกเข้ามาในคดี ออกไปถึงหกเดือน นับแต่วันที่คำพิพากษานั้นถึงที่สุด
มาตรา ๘ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐ ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย เพื่อการละเมิดของ เจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐ มีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ ผู้ทำละเมิด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว แก่หน่วยงานของ รัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
สิทธิเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามวรรคหนึ่ง จะมีได้เพียงใด ให้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการ กระทำ และความเป็นธรรมในแต่ละกรณี เป็นเกณฑ์ โดยมิต้องให้ใช้เต็มจำนวนของความเสียหาย ก็ได้
ถ้าการละเมิด เกิดจากความผิด หรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐ หรือระบบการดำเนินงาน ส่วนรวม ให้หักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าวออกด้วย
ในกรณีที่การละเมิด เกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วม มาใช้บังคับ และเจ้าหน้าที่ แต่ละคน ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน เฉพาะส่วนของตนเท่านั้น
มาตรา ๙ ถ้าหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย สิทธิที่จะเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่ง ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตน ให้มีกำหนดอายุความหนึ่งปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นแก่ผู้เสียหาย
มาตรา ๑๐ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำ ในการปฏิบัติหน้าที่ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน จากเจ้าหน้าที่ ให้นำ บทบัญญัติมาตรา ๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้ามิใช่การกระทำ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน จากเจ้าหน้าที่ทั้งสองประการ ตามวรรคหนึ่ง ให้มีกำหนดอายุความสองปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐ รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวเจ้าหน้าที่ ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และกรณีที่ หน่วยงานของรัฐเห็นว่า เจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้ว เห็นว่าต้องรับผิด ให้สิทธิ เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้น มีกำหนดอายุความหนึ่งปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่ง ตามความเห็นของ กระทรวงการคลัง
มาตรา ๑๑ ในกรณีที่ผู้เสียหายเห็นว่า หน่วยงานของรัฐ ต้องรับผิดตามมาตรา ๕ ผู้เสียหายจะยื่นคำขอ ต่อหน่วยงานของรัฐ ให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับความเสียหายที่เกิดแก่ตนก็ได้ ในการนี้ หน่วยงานของรัฐ ต้องออกใบรับคำขอให้ไว้ เป็นหลักฐาน และพิจารณาคำขอนั้นโดยไม่ชักช้า เมื่อหน่วยงาน ของรัฐมีคำสั่งเช่นใดแล้ว หากผู้เสียหาย ยังไม่พอใจ ในผลการวินิจฉัย ของหน่วยงานของรัฐ ก็ให้มีสิทธิร้องทุกข์ต่อ คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งผลการวินิจฉัย
ให้หน่วยงานของรัฐ พิจารณาคำขอ ที่ได้รับตามวรรคหนึ่ง ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หากเรื่องใดไม่อาจพิจารณาได้ทันในกำหนดนั้น จะต้องรายงานปัญหา และอุปสรรค ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือกำกับหรือ ควบคุมดูแลหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น ทราบ และขออนุมัติขยายระยะเวลาออกไปได้ แต่รัฐมนตรีดังกล่าวจะพิจารณา อนุมัติให้ขยายระยะเวลาให้อีก ได้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
มาตรา ๑๒ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ที่หน่วยงานของรัฐได้ใช้ ให้แก่ผู้เสียหายตาม มาตรา ๘ หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้นั้น ได้กระทำละเมิดต่อหน่วยงาน ของรัฐตามมาตรา ๑๐ ประกอบกับมาตรา ๘ ให้หน่วยงานของรัฐที่เสียหาย มีอำนาจออกคำสั่ง เรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชำระเงินดังกล่าว ภายในเวลาที่กำหนด
มาตรา ๑๓ ให้คณะรัฐมนตรี จัดให้มีระเบียบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องรับผิดตามมาตรา ๘ และมาตรา ๑๐ สามารถผ่อนชำระเงิน ที่จะต้องรับผิดนั้นได้ โดยคำนึงถึงรายได้ ฐานะ ครอบครัวและ ความรับผิดชอบ และพฤติการณ์แห่งกรณีประกอบด้วย
มาตรา ๑๔ เมื่อได้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นแล้ว สิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตาม มาตรา ๑๑ ให้ถือว่า เป็นสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
มาตรา ๑๕ ให้นายกรัฐมนตรี รักษาการตามพระราซบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
บรรหาร ศิลปอาชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ การที่เจ้าหน้าที่ ดำเนินกิจการต่าง ๆ ของ หน่วยงานของรัฐนั้น หาได้เป็นไป เพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัวไม่ การปล่อยให้ความรับผิดทางละเมิด ของเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่ปฏิบัติงานในหน้าที่ และเกิดความเสียหายแก่เอกชน เป็นไปตามหลักกฎหมายเอกชนตาม ประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ จึงเป็นการไม่เหมาะสมก่อให้เกิดความข้าใจผิดว่า เจ้าหน้าที่ จะต้องรับผิดในการกระทำต่าง ๆ เป็นการเฉพาะตัวเสมอไป เมื่อการที่ทำไป ทำให้หน่วยงานของรัฐ ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเพียงใด ก็จะมีการฟ้อง ไล่เบี้ยเอาจากเจ้าหน้าที่เต็มจำนวนนั้น ทั้งที่บางกรณี เกิดขึ้นโดยความไม่ตั้งใจ หรือความผิดพลาด เพียงเล็กน้อย ในการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนั้น ยังมีการนำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วม ในระบบกฎหมายแพ่ง มาใช้บังคับ ให้เจ้าหน้าที่ ต้องร่วมรับผิดในการกระทำ ของเจ้าหน้าที่ผู้อื่นด้วย ซึ่งระบบนั้น มุ่งหมายแต่จะได้เงินครบโดย ไม่คำนึงถึงความเป็นธรรม ที่จะมีต่อแต่ละคน กรณีเป็นการก่อให้เกิด ความไม่เป็นธรรม แก่เจ้าหน้าที่ และยังเป็นการ บั่นทอนกำลังขวัญ ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย จนบางครั้งกลายเป็นปัญหา ในการบริหาร เพราะเจ้าหน้าที่ ไม่กถ้าตัดสินใจ ดำเนินงานเท่าที่ควร เพราะเกรงความรับผิดชอบ ที่จะเกิดแก่ตน อนึ่ง การให้คุณให้โทษแก่ เจ้าหน้าที่ เพื่อควบคุมการทำงาน ของเจ้าหน้าที่ ยังมีวิธีการในการบริหารงานบุคคล และการดำเนินการทางวินัย กำกับดูแล อีกส่วนหนึ่ง อันเป็นหลักประกัน มิให้เจ้าหน้าที่ทำการใด ๆ โดยไม่รอบคอบอยู่แล้ว ดังนั้น จึงสมควร กำหนดให้เจ้าหน้าที่ ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติงานในหน้าที่ เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำ เพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เท่านั้น และให้แบ่งแยกความรับผิดของ แต่ละคน มิให้นำหลักลูกหนี้ร่วม มาใช้บังคับ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเพิ่มพูนประสิทธิภาพ ในการปฏิบัติงานของรัฐ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น